• เวลาเปิดทำการ วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 8.30-16.30 น. วันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 9.00-16.00 น.

ประวัติ ความเป็นมา

โครงการปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทางสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง

    ได้เริ่มขึ้นจากการตัดสินใจของอธิการบดี ศาสตราจารย์รังสรรค์ แสงสุข ที่จะทำให้หลักสูตรปริญญาเอก ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง
เกิดขึ้นอย่างจริงจังหลังจากที่ได้มีแผนพัฒนามหาวิทยาลัยที่จะเปิดหลักสูตรปริญญาเอกในปี 2540 ในการนี้ อธิการบดีได้มอบความไว้วางใจ
ให้ ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ดำเนินการพัฒนาหลักสูตรปริญญาเอก
ในสาขาวิชาที่มหาวิทยาลัยรามคำแหงได้เสนอไว้ในแผนพัฒนามหาวิทยาลัยว่าจะเปิดตั้งแต่ปี 2540 แต่ยังไม่สามารถเปิดได้

เพื่อให้การพัฒนาหลักสูตรโครงการปริญญาเอกของมหาวิทยาลัยรามคำแหงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล
ศาสตราจารย์ ดร.สุชาติ ประสิทธิ์รัฐสินธุ์ ได้ติดต่อประสานงานกับ

(1) ผู้ทรงคุณวุฒิจากทบวงมหาวิทยาลัยที่รับผิดชอบมาตรฐานอุดมศึกษา (นายมนตรี นาคเจือ)
(2) ผู้ทรงคุณวุฒิจากสำนักงบประมาณที่เชี่ยวชาญด้านการประเมินผลโดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอุดมศึกษาของไทย (นายอำพล ทิมาสาร)
(3) ผู้อำนวยการกองพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (นายเชษฐ์ บุญประเทือง)
(4) ผู้ทรงคุณวุฒิในสาขาวิชาที่เป็นหนึ่งในเป้าหมายหลักของโครงการฯ (ศาสตราจารย์ ดร.ทินพันธุ์ นาคะตะ) เพื่อร่วมมือกับคณาจารย์
ของมหาวิทยาลัยรามคำแหง

     ตามที่อธิการบดีมหาวิทยาลัยรามคำแหงจะมอบหมายให้มาร่วมมือเป็นคณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทางสังคมศาสตร์
มหาวิทยาลัยรามคำแหง (ศาสตราจารย์ ดร.จุฑา เทียนไทย และ รองศาสตราจารย์ สุกัญญา ตันธนวัฒน์) คณะกรรมการฯ ได้รวบรวม
และวิเคราะห์ปัญหาของหลักสูตรระดับปริญญาเอกที่ดำเนินการอยู่ในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ในประเทศไทย และแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ
เหล่านี้ที่จะทำให้ได้มาซึ่งหลักสูตรปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทางสังคมศาสตร์ ที่มีกระบวนการและระบบประกันคุณภาพที่เป็นจริงในด้านการปฏิบัติการ

หลักสูตรที่คณะกรรมการพัฒนาหลักสูตรฯ ได้จัดทำเพื่อประเดิมการดำเนินการในปีแรกมี 6 หลักสูตร คือ นิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์
เทคโนโลยีการศึกษา จิตวิทยาให้คำปรึกษา และจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ หลังจากที่อธิการบดีได้นำเสนอต่อที่ประชุม
สภามหาวิทยาลัยรามคำแหงและได้ผ่านความเห็นชอบอนุมัติให้ดำเนินการได้ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2544 จึงได้มีการแต่งตั้ง
คณะกรรมการอำนวยการและคณะกรรมการบริหารเพื่อดำเนินการให้เป็นไปอย่างประสิทธิภาพและประสิทธิผล

หลักสูตรนี้มีการประกันคุณภาพการศึกษาไว้ทุกขั้นตอนอย่างชัดเจน นับตั้งแต่ระบบการคัดเลือก/รับนักศึกษา การจัดการเรียนการสอนที่เน้น
ให้นักศึกษาสามารถศึกษาและแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง การสอบป้องกันดุษฎีนิพนธ์โดยกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิจากภายนอก
การพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยและการประเมินเพื่อการพัฒนาหลักสูตรทุก 3 ปี

จำนวนนักศึกษาที่รับในปีแรก ได้สอบคัดเลือกสัมภาษณ์ผู้สนใจเข้ามาศึกษาทั้งหมด 262 คน จำแนกตามคณะ/สาขาวิชาดังนี้

สาขาวิชาบริหารธุรกิจ 75 คน
สาขาวิชาสังคมวิทยา 58 คน
สาขาวิชารัฐศาสตร์ 57 คน
สาขาวิชาเศรษฐศาสตร์ 27 คน
สาขาวิชานิติศาสตร์ 26 คน
สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษา 3 คน
สาขาวิชาจิตวิทยาให้คำปรึกษา 3 คน
สาขาวิชาจิตวิทยาอุตสาหกรรมและองค์การ 4 คน
สาขาวิชาวิจัยการศึกษา 9 คน

ผู้ที่ได้ลงทะเบียนเป็นนักศึกษาภาคการศึกษาแรก จำนวน 262 คน ในภาคการศึกษาสอง มีนักศึกษาลงทะเบียน 234 คน
ที่ได้สอบป้องกันข้อเสนอดุษฎีนิพนธ์แล้ว 53 คน ผ่านการสอบข้อเสนอดุษฎีนิพนธ์ 48 คน
ได้ส่งข้อเสนอดุษฎีนิพนธ์ฉบับสมบูรณ์ (ฉบับแก้ไข) 6 คน

ในปีการศึกษา 2545 โครงการฯ จะเปิดรับสมัครรุ่น 2 โดยอาจมีสาขาวิชาที่จะเปิดเพิ่มอีก 2 สาขาวิชา คือ
(1) บริหารการศึกษา และ
(2) สื่อสารมวลชน รวมเป็น 11 สาขาวิชา


© 2020 โครงการปรัชญาดุษฎีบัณฑิตทางสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง , all rights reserved